หลวงพ่อปาน โสนันโท วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา พระเกจิอาจารย์ผู้เปี่ยมไปด้วยเมตตาบารมีแห่งกรุงเก่า
ชาติภูมิ
หลวงพ่อปาน เกิดเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2418 ในสมัยรัชกาลที่ 5 โยมบิดาชื่อ อาจ โยมมารดาชื่อ อิ่ม นามสกุล สุทธาวงศ์ ที่ย่านบางนมโค จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยอาชีพทางครอบครัว คือ ทำนา ครอบครัวของท่านนับได้ว่าเป็นครอบครัวที่ค่อนข้างมีฐานะ สมัยนั้นเขายังมีทาสกันอยู่ ที่บ้านท่านก็มีทาส เมื่อตอนท่านเกิดมา มีปานแดงอยู่ที่นิ้วก้อยมือซ้ายตั้งแต่โคนนิ้วถึงปลายนิ้วคล้ายปลอกนิ้ว โยมบิดาจึงตั้งชื่อท่านว่า "ปาน"
หลวงพ่อปานเมื่อเป็นหนุ่ม
ต่อมาเมื่อท่านโตขึ้น เป็นชายหนุ่มที่มีหน้าตาดี เป็นคนผิวขาวนวล ลักษณะสมส่วนชายชาตรีทุกอย่าง ท่านก็ช่วยบิดามารดาทำนา ท่านเป็นคนขยัน ท่านได้ช่วยเหลือในกิจการงานของบิดามารดามาตลอดจนอายุใกล้จะครบบวช ทางฝ่ายบิดามารดาก็จะไปขอหญิงสาวเพื่อจะมาเป็นคู่ครอง โดยบิดามารดาท่านให้เหตุผลว่า เมื่อบวชแล้วสึกมาจะได้แต่งงานกัน หญิงสาวที่บิดามารดามองหาให้นั้นเป็นลูกคนรวย แต่ท่านบอกว่า เรื่องแต่งงานเอาไว้ทีหลัง ขอให้บวชเสียก่อน บวชแล้วไม่แน่จะสึกหรือไม่สึก ถ้าสึกก็แต่ง ไม่สึกก็ไม่แต่ง ไปขอเขาอย่างนั้นจะเป็นการลากหนามจุกตรอก คนอื่นที่เขาดีกว่าเขามาขอจะได้แต่งงานไป ทำอย่างนั้นไม่ควร
ในที่สุดเมื่อบิดามารดาท่านเห็นว่าท่านค้านก็เลยตามใจ แล้วพอดีถึงตอนจะบวช ในสมัยนั้นเวลาก่อนจะบวชต้องอยู่วัดก่อนถึง 3 เดือน เขาเรียกกันว่า ติฎฐิยะปริวาส พระพุทธเจ้ามีพระบัญญัติอย่างนั้น มีพระพุทธบัญญัติสั่งแบบนั้น เมื่อคนจะบวชจะต้องอยู่วัดถึง 3 เดือน อบรมธรรมวินัยให้มีนิสัยดี ถ้า 3 เดือนยังไม่ดี ยังไม่ให้บวช ให้อยู่ต่อไปอีก 3 เดือน ถ้ายังดีไม่ได้ไม่ให้บวช ให้อยู่ไปอีก 3 เดือน ถ้า 9 เดือนไม่ดีเลิกเลย ไม่ให้บวชเลย แล้วอุปัชฌาย์สมัยนั้นท่านเคร่งครัดเอาตามนี้ทุกอย่าง
ตอนก่อนที่ท่านจะเข้าวัดบวช บิดาท่านมาบอกว่า
“ลูกปานเอ๊ย ลูกอายุย่างเข้า 21 ปีแล้ว ครบ 20 ปีบริบูรณ์สมควรจะบวชได้แล้วนะ พรุ่งนี้พ่อจะนำไปฝากหลวงพ่อสุ่นนะ ไปบวชที่วัดบางปลาหมอนะ วัดบางนมโคใกล้บ้านของเราน่ะอย่าบวชเลย พ่อไม่เลื่อมใสพระ”
บิดาท่านไม่เลื่อมใสพระวัดบางนมโค ซึ่งเป็นวัดบ้านท่าน ท่านบอกว่าพระอย่างนี้ถ้าลูกไปบวชอยู่ด้วยก็จะเสีย อย่าบวชเลย ไปบวชกับหลวงพ่อสุ่น วัดบางปลาหมอเถิด ท่านดี
สู่ร่มกาสาวพัสตร์
ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ณ พัทธสีมา วัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยาโดยมีหลวงพ่อสุ่น วัดปลาหมอ จ.สุพรรณบุรี เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์จ้อย วัดบ้านแพน จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์อุ่ม วัดสุธาโภชน์ จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาจากพระอุปัชฌาย์ว่า "โสนันโท"
การศึกษาและร่ำเรียนวิชา
หลังจากบวชแล้วท่านได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมอยู่กับหลวงพ่อสุ่นพอสมควรแล้ว จึงได้เดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรม ณ วัดสระเกศ กทม. และวัดเจ้าเจ็ดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ได้ร่ำเรียนแพทย์แผนโบราณจากวัดสังเวชวิศยาราม
และได้ศึกษาพระกรรมฐานเพิ่มเติมกับ หลวงพ่อเนียม วัดน้อย จ.สุพรรณบุรี และ พระอาจารย์โหน่ง อิณฑสุวัณโณ วัดคลองมะดัน จ.สุพรรณบุรี อดีตเจ้าอาวาสวัดคลองมะดัน เรียนวิชาการสร้างพระเครื่องดินจากชีปะขาว เรียนการปลุกเสกพระเครื่องและเป่ายันต์เกราะเพชรจากอาจารย์แจง สวรรคโลก ได้รับพระคาถาปัจเจกโพธิสัตว์มาจากครูผึ้ง ฆราวาส ชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยา
หลวงพ่อปานท่านได้รับตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางนมโครูปที่ 3 ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบางนมโค จ.พระนครศรีอยุธยา ระหว่างปี พ.ศ. 2478 จนถึงปี พ.ศ. 2481
อุปนิสัยและปฏิปทาของหลวงพ่อปาน
หลวงพ่อปานท่านมีลักษณะของชายชาตรีที่มีผิวพรรณขาวละเอียด ลักษณะสมส่วนเสียงดังกังวานไพเราะมีใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใสชวนให้ศรัทธาปสาทะเป็นอย่างยิ่ง ดวงตาบ่งบอกถึงความเมตตาปรานีในสัตว์โลกทั้งหลาย ต้อนรับผู้คนที่มาหาไม่เลือกเศรษฐี ผู้ดี ไพร่ ใครไปก็ไต่ถาม ว่ากันว่าถ้าหลวงพ่อพูดจากับผู้ใดแล้วนั้น มักจะจับจิตจับใจ ที่ใจชั่วมั่วเมามาก็กลับตัว แม้แต่ผู้นับถือคริสต์ศาสนาก็ยังหันมานับถือพระพุทธศาสนา"
ตลอดเวลาท่านจะไม่แสดงทีท่าว่าเหน็ดเหนื่อยหรือทำให้ผู้ที่มาหาเสื่อมศรัทธาเลย วันหนึ่งๆ จะมีคนมาหาท่าน เพื่อขอความช่วยเหลือนับเป็นจำนวนร้อยๆ คน ไม่ว่าจะเป็นการให้รดน้ำมน มาให้รักษาโรคภัยต่างๆ ตลอดจนมาปรึกษาถึงเรื่องเดือดเนื้อร้อนใจ บางคนก็เรียกว่า หลวงพ่อบางคนเรียกว่าหลวงปู่บ้าง ตั้งแต่เพลจนกระทั่งถึงเวลาประมาณ 4 หรือ 5 ทุ่ม นั่นแหละท่านถึงจะพักผ่อน และเป็นอย่างนี้อยู่ประจำทุกวัน จนกระทั่งท่านมรณภาพ
"ท่านไม่ยินดียินร้ายในทางโลกธรรมแต่ประการใด คงปฏิบัติธรรมเหมือนพระแก่ๆ รูปหนึ่งที่ไม่ต้องการยศบรรดาศักดิ์หรือชื่อเสียงดีเด่นแต่อย่างใด ท่านคงหวังแต่ทำหน้าที่ให้ความสุขสบายแก่พระสงฆ์และชาวบ้าน
หลวงพ่อปาน โสนันโทได้ละสังขารไปเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2481 รวมสิริอายุได้ 63 ปี 42 พรรษา
หลวงพ่อปาน ท่านเป็นพระเกจิอาจารย์ที่เชี่ยวชาญทางด้านพระกรรมฐานและเวทย์มนคาถาต่างๆ และยังเป็นครูบาอาจารย์ของเกจิอาจารย์ยุคหลังๆอีกหลายท่านอาทิเช่น
-หลวงพ่อฤาษีลิงดำ วัดท่าซุง ต.น้ำซึม อ เมือง จ อุทัยธานี
-หลวงพ่อฤาษีลิงขาว ป่าเชียงตุง พม่า
-หลวงพ่อฤาษีลิงเล็ก ป่าเชียงตุง พม่า
-หลวงพ่อฤาษีลิงเผือก (หลวงประธานถ่องวิจัย)
-หลวงพ่อช่อ อภินันโท วัดฤกษ์บุญมี ต.ไผ่กองดิน อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี
-หลวงพ่อนวล วัดโพธิ์ แขวงบางระมาด เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
-หลวงพ่อหวล วัดพิกุล แขวงบางเชือกหนัง เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร
-หลวงพ่อมี วัดมารวิชัย ต.บางนมโค อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา
-หลวงพ่อเมี้ยน พุทธสิริ วัดโพธิ์ ต.กบเจา อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา
-หลวงพ่อเชิญ ปุญญสิริ วัดโคกทอง ต.กุฎี อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา
-หลวงพ่อรวย ฐิตยโส วัดสร้อยทอง แขวงบางซื่อ เขตบางซื่อ กรุงเทพมหานคร
-หลวงพ่อทองดี สุวรรณโชติ วัดบางด้วนนอก ต.บางด้วน อ.เมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ
-หลวงพ่อสนิธ เขมจารีมหาเถร วัดปทุมคงคาราชวรวิหาร แขวงสัมพันธวงศ์ เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร
-หลวงพ่อสมนึก ญาณโสภโณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพมหานคร
-หลวงพ่อเวก อักกวังโส วัดดาวดึงษาราม แขวงบางยี่ขัน เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร
-หลวงพ่อสวัสดิ์ จันทร์แสงสี วัดป่าเรไร ต.บางศรีเมือง อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี
-หลวงพ่อบุญศรี อินทวัณโน วัดใหม่ศรีสุทธาวาส ต.น้ำทรง อ.พยุหะคีรี จ.นครสวรรค์
ถือได้ว่าหลวงพ่อปานท่านครูบาอาจารย์ใหญ่
ประวัติการสร้างพระเครื่องพระพุทธเจ้าประทับสัตว์
หลวงพ่อปานท่านได้จัดสร้างพระเครื่องขึ้นซึ่งมีลักษณะพิมพ์ทรงเป็นพระพุทธ ประทับบนสัตว์พาหะนะ ต่างๆกันไปหลายพิมพ์ดังนี้ ครุฑ หนุมาน เม่น ไก่ นก และปลา เป็นต้น ที่มาของการสร้างพระเครื่องพิมพ์นี้เกิดจากวันหนึ่งที่ท่านได้ออกจากพระกรรมฐานแล้วมีชีปะขาวมาปรากฏกายต่อหน้าท่านและบอกให้ท่านสร้างพระโดยบอกวิธีขั้นตอนการสร้างโดยละเอียด ไม่ว่าจะเป็นการสร้างผงวิเศษ ตลอดจนพิธีกรรมต่างๆ และวิธีการปลุกเสก จากนั้นหลวงพ่อปานท่านได้สร้างพระเครื่องนี้ขึ้นและนำแจกจ่ายให้กับผู้คนที่มากราบท่าน จนกลายเป็นพระเครื่องที่ทรงคุณค่าเป็นมรดกมาสู่ลูกหลานไว้ได้บูชาเป็นที่ระลึก
พระคาถาพระปัจเจกพุทธเจ้ามหาลาภ ของหลวงพ่อปาน(ที่รับมาจากครูผึ้ง) ซึ่งมีคุณวิเศษทางด้านโชคลาภเป็นที่น่าอัศจรรย์
(ว่า "นะโม ฯลฯ " ๓ จบ )
พระคาถาบทนำ ว่าครั้งเดียว
" พุทธะ มะอะอุ นะโมพุทธายะ "
พระคาถาพระปัจเจกะโพธิ์
ว่า ๓ จบ หรือ ๕ จบ หรือ ๗ จบ หรือ ๙ จบ ก็ได้ แต่ต้องสม่ำเสมอ จึงจะเกิดผล
" วิระทะโย วิระโคนายัง วิระหิงสา วิระทาสี วิระทาสา วิระอิตถิโย พุทธัสสะ มาณี มามะ พุทธัสสะ สวาโหม "
ใช้สวดภาวนาก่อนนอน ๙ จบ และตื่นนอนเช้า ๙ จบ ทุกวันโดยไม่ขาด จะบังเกิดโภคทรัพย์โชคลาภเงินทองสมบูรณ์
คาถามหาพิทักษ์
" จิตติ วิตัง นะกรึง คะรัง "
ใช้ภาวนาขณะใส่กุญแจ ปิดหีบ ปิดตู้ ปิดประตูหน้าต่างฯ
คาถา มหาลาภ
" นะมามีมา มะหาลาภา อิติพุทธัสสะ สุวัณณังวา ระชะตังวา ธะนังวา พึซังวา อัตถังวา ปัตถังวาเอหิ เอหิ อาคัจเฉยยะ อิติมึมา นะมามิหัง "
ใช้สวดภาวนาก่อนนอน ๓ จบ และตื่นนอนเช้า ๓ จบ ทุกวันโดยไม่ขาด จะเป็นการเรียกทรัพย์เรียกลาภ
พระคาถา ๓ บทนี้ เป็นคาถาที่ศักดิ์สิทธิ์มาก หากผู้ใดนำไปใช้จะเกิดโชคลาภมั่งมีเงินทองอย่างมหัศจรรย์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น