ต้นศรีมหาโพธิ์พุทธคยาอินเดีย สถานที่ๆพระพุทธเจ้าตรัสรู้
ต้นโพธิ์ หรือต้นสหรีเป็นต้นไม้ในตำนานในพุทธประวัติ โดยเป็นต้นไม้ที่พระมหาโพธิสัตว์ให้เป็นบัลลังก์ หรือเรียกว่าโพธิบัลลังก์ ในการบำเพ็ญเพียรเพื่อตรัสรู้เป็นพระอนุตรสัมมาสัมพุทธเจ้า และท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าภายใต้โพธิ์บัลลังก์นั้น ในพุทธประวัติยังมีบันทึกไว้เมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วพระองค์ได้เสวยวิมุติสุขภายใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์นั้น 7 วัน 7 คืน จากนั้นได้เดินจงกรมรอบต้นพระศรีมหาโพธินั้น เพื่อระลึกถึงคุณของต้นพระศรีมหาโพธิ์ที่เป็นโพธิบัลลังก์
พิธีการแห่ไม้ค้ำต้นโพธิ์ หรือแห่ไม้สรีของล้านนานั้น จะจัดขึ้นในวันที่ 15 เมษายน ของทุกๆปี โดยจะนำไม้สัก ไม้ประดู่ หรือ ไม้ฉำฉา หรือไม้เนื้อแข็งอื่นๆทำเป็นไม้ง่าม และแกะสลักให้สวยงาม จากนั้นจะะมีกรวยดอกไม้ธูปเทียน และกระบอกไม้อ้อ หรือไม้ไผ่บรรจุน้ำ และทรายผูกติดกับไม้ง่ามไปด้วย ตรงบริเวณง่ามของไม้ก็จะมีหมอนรองไว้ แล้วจัดขบวนแห่ มีการประโคมโหมแห่ด้วยเครื่องแห่พื้นเมืองของล้านนา อาทิเช่นแห่ฆ้อง กลอง ในขบวนจะมีพ่อบ้านแม่บ้านถือช่อ(ธงสามเหลี่ยม) หมากสู่ม หมากเบ็ง ต้นผึ้ง ต้นเทียน หาบหรือถือขันสลุงบรรจุน้ำขมิ้นส้มปล่อย น้ำสุคันโธทกะ น้ำอบน้ำหอมซึ่งเป็นเครื่องสักการะ คนเฒ่าคนแก่ผู้ชายก็จะรำแบบทางเหนือที่เรียกว่า ตบมะผาบ หรือฟ้อนดาบก็มี ส่วนไม้ค้ำก็จะหามแห่ หรือตกแต่งบนรถให้งดงามแล้วนำไม้ค้ำขึ้นวางแล้วแห่ พอขบวนแห่ไม้ค้ำถึงวัดแล้ว ก็จะนำ
ไม้ค้ำโพธิ์ขึ้นค้ำต้นโพธิที่วัด โดยชายหนุ่มที่แข็งแรงจะช่วยกันดึงไม้ค้ำขึ้นค้ำต้นโพธิ์ พอค้ำเสร็จก็นิมนต์พระมารับการถวายไม้ค้ำโพธิ์ จะมีการรดน้ำส้มปล่อยที่ตัวไม้ค้ำเพื่อขอขมาครัวทาน และรับพรจากพระเป็นอันเสร็จพิธี
ในทางความเชื่อถือว่าการแห่ไม้ค้ำหสรี เพื่อไปค้ำต้นโพธิที่วัดนี้ เป็นสัญลักษณ์แห่งการค้ำชูพระศาสนาให้ยาวนานสืบต่อไป เพราะถือว่าต้นโพธิเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของพระพุทธศาสนา และอีกอย่างหนึ่งเพื่อเป็นการสืบชะตาให้ตัวเอง ค้ำดวงต่ออายุ ตัวเองเนื่องในวันสงกรานต์อีกอย่างหนึ่ง ประเพณีการแห่ไม้ค้ำสหรีนี้ถือเป็นพระเพณีที่ดีอีกอย่างหนึ่งของล้านนาที่จัดขึ้นในวันสงกรานต์
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น