ครูบาศรีวิชัย วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน - สยามมงคลแมก

สยามมงคลแมก

สยามมงคลแมก : นิตยสารพระเครื่องและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ออนไลน์ บทความสาระความรู้ เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับพระเครื่อง ให้บูชาพระเครื่อง และแนะนำวัตถุมงคล เครื่องรางของขลัง

test banner

Post Top Ad

วันพฤหัสบดีที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2561

ครูบาศรีวิชัย วัดบ้านปาง อ.ลี้ จ.ลำพูน


หลวงปู่ครูบาศรีวิชัย ตนบุญแห่งลานนาไทย พระผู้เปี่ยมไปด้วยบารมีและเป็นที่เคารพยกย่องศรัทธาของอาณาจักรล้านนาไทย

ชาติภูมิ
ครูบาศรีวิชัย หรือ พระครูบาศรีวิชัย ครูบาศีลธรรม หรือ ทุเจ้าสิริ (อ่าน "ตุ๊เจ้าสิลิ") ล้วนแล้วแต่เป็นชื่อเรียกของท่านทั้งสิ้น เล่าว่าท่านมักเรียกตนเองเป็น พระชัยยาภิกขุ หรือ พระศรีวิชัยชนะภิกขุ  ท่านเกิดในปีขาล เดือน ๙ เหนือ (เดือน ๗ ของภาคกลาง) ขึ้น ๑๑ ค่ำ จ.ศ. ๑๒๔๐ เวลาพลบค่ำ ตรงกับวันอังคารที่ ๑๑ เดือนมิถุนายน พ.ศ. ๒๔๒๑ ที่หมู่บ้านชื่อ "บ้านปาง" ตำบลแม่ตืน อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ท่านเป็นบุตรของนายควาย นางอุสา มีพี่น้องทั้งหมด ๕ คน มีชื่อตามลำดับ คือ

๑.  นายไหว

๒.  นางอวน

๓.  นายอินท์เฟือน (ครูบาศรีวิชัย)

๔.  นางแว่น

๕.  นายทา

นายควายบิดาของท่านได้ติดตามพ่อตาคือ หมื่นปราบ ซึ่งมีอาชีพเป็นหมอคล้องช้าง ของเจ้าหลวงดาราดิเรกฤทธิ์ไพโรจน์ (เจ้าผู้ครองนครลำพูนองค์ที่ ๗ ช่วง พ.ศ. ๒๔๑๔-๒๔๓๑) ไปตั้งครอบครัวบุกเบิกที่ทำกินอยู่ที่บ้านปาง บ้านเดิมของนายควาย อยู่ที่บ้านสันป่ายางหลวง ทางด้านเหนือของตัวเมืองลำพูน

ในสมัยที่ครูบาศรีวิชัย หรือนายอินท์เฟือน ยังเป็นเด็กอยู่นั้น หมู่บ้านดังกล่าวยังกันดารมาก มีชนกลุ่มน้อยอาศัยอยู่มาก โดยเฉพาะชาว ปกาเกอญอ (กะเหรี่ยง) ในช่วงนั้นบ้านปางยังไม่มีวัดประจำหมู่บ้าน จนกระทั่งเมื่อนายอินท์เฟือนมีอายุได้ ๑๗ ปี ได้มีพระภิกษุรูปหนึ่งชื่อ ครูบาขัตติยะ (ชาวบ้านเรียกว่า ครูบาแข้งแฅะ ซึ่งเป็นภาษาเหนือ เป็นชื่อเรียกของผู้ที่มีขาไม่ดีเดินกระโพรกกระเพลก) เดินธุดงค์จากบ้านป่าซาง ผ่านมาถึงหมู่บ้านนั้น ชาวบ้านจึงนิมนต์ท่านให้อยู่ประจำที่บ้านปาง แล้วชาวบ้านก็ช่วยกันสร้างกุฏิชั่วคราวให้ท่านจำพรรษา



บรรพชาอุปสมบท
ในช่วงนั้น เด็กชายอินท์เฟือนได้ฝากตัวเป็นศิษย์ครูบาขัตติยะ และเมื่อท่านอายุได้ ๑๘ ปีก็ได้บรรพชาเป็นสามเณร ที่อารามแห่งนี้ โดยมีครูบาขัตติยะเป็นพระอุปัชฌาย์ ๓ ปีต่อมา (พ.ศ. ๒๔๔๒) เมื่อสามเณรอินท์เฟือนมีอายุย่างเข้า ๒๑ ปี ก็ได้เข้าอุปสมบทในอุโบสถวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน โดยมีครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง เป็นพระอุปัชฌาย์ ได้รับนามฉายาในการอุปสมบทว่า สิริวิชโยภิกฺขุ มีนามบัญญัติว่า พระศรีวิชัย ซึ่งบางครั้งก็พบว่าเขียนเป็น สรีวิไชย สีวิไช หรือ สรีวิชัย

เมื่ออุปสมบทแล้ว พระสิริวิชโยก็กลับมาจำพรรษาที่อารามบ้านปาง จ.ลำพูน อีก ๑ พรรษา จากนั้นได้ไปศึกษาพระกัมมัฏฐานและคาถาอาคมกับครูบาอุปละ วัดดอยแต อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ของครูบาวัดดอยคำอีกด้วย และอีกท่านหนึ่งที่ถือว่าเป็นครูของครูบาศรีวิชัยคือ ครูบาสมณะ วัดบ้านโฮ่งหลวง ซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ของท่าน

ครูบาศรีวิชัยรับการศึกษาจากครูบาอุปละ วัดดอยแตเป็นเวลา ๑ พรรษาก็กลับมาอยู่ที่อารามบ้านปางจนถึง พ.ศ. ๒๔๔๔ (อายุได้ ๒๔ ปี พรรษาที่ ๔) ครูบาขัตติยะได้จาริกออกจากบ้านปางไป  ครูบาศรีวิชัยจึงรักษาการแทนในตำแหน่งเจ้าอาวาส และเมื่อครบพรรษาที่ ๕ ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านปาง จากนั้นก็ได้ย้ายวัดไปยังสถานที่ที่เห็นว่าเหมาะสม คือบริเวณเนินเขาซึ่งเป็นที่ตั้งวัดบ้านปางในปัจจุบัน เพราะเป็นที่วิเวกและสามารถปฏิบัติธรรมได้เป็นอย่างดี โดยได้ให้ชื่อวัดใหม่แห่งนี้ว่า วัดจอมสรีทรายมูลบุญเรือง แต่ชาวบ้านทั่วไปยังนิยมเรียกว่า วัดบ้านปาง ตามชื่อของหมู่บ้าน

ปฏิปทาและวัตรปฏิบัติ
ครูบาศรีวิชัยท่านเป็นผู้มีศีลาจารวัตรที่งดงามและเคร่งครัดในพระธรรมวินัยและวัตรปฏิบัติ และท่านยังงดการเสพ หมาก เมี่ยง บุหรี่ โดยสิ้นเชิง ท่านงดฉันเนื้อสัตว์ตั้งแต่เมื่ออายุได้ ๒๖ ปี และฉันอาหารเพียงมื้อเดียว ซึ่งท่านมักจะฉันผักต้มใส่เกลือกับพริกไทเล็กน้อย บางทีก็ไม่ฉันข้าวทั้ง ๕ เดือน คงฉันเฉพาะลูกไม้หัวมันเท่านั้น นอกจากนี้ท่านยังงดฉันผักตามวันทั้ง ๗ คือ

วันอาทิตย์     ไม่ฉันฟักแฟง,

วันจันทร์        ไม่ฉันแตงโมและแตงกวา,

วันอังคาร       ไม่ฉันมะเขือ,

วันพุธ            ไม่ฉันใบแมงลัก,

วันพฤหัสบดี    ไม่ฉันกล้วย,

วันศุกร์           ไม่ฉันเทา (อ่านว่า "เตา" - สาหร่ายน้ำจืดชนิดหนึ่ง ลักษณะคล้ายเส้นผม มีสีเขียว),

วันเสาร์          ไม่ฉันบอน

นอกจากนี้ผักที่ท่านจะไม่ฉันเลยคือ ผักบุ้ง ผักปลอด ผักเปลว ผักหมากขี้กา ผักจิก และ ผักเฮือด-ผักฮี้ (ใบไม้เลียบอ่อน) โดยท่านให้เหตุผลว่า ถ้าพระภิกษุสามเณรรูปใดงดได้ การบำเพ็ญกัมมัฏฐานจะเจริญก้าวหน้า ผิวพรรณจะเปล่งปลั่ง ธาตุทั้ง ๔ จะเป็นปกติ ถ้าชาวบ้านงดเว้นแล้วจะทำให้การถือคาถาอาคมดีนัก



ผลงานสำคัญ
ผลงานชิ้นสำคัญของท่านคือการเป็นผู้นำ สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ เมื่อปี พ.ศ.2477 โดยท่านได้เป็นผู้นำในการบุกเบิกแผ้วถางทาง โดยชาวบ้านทั้งจังหวัดเชียงใหม่ร่วมกันสร้าง มีเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่ในสมัยนั้นเล่าว่าเมื่อท่านเริ่มพัฒนาชาวบ้านจากหลายอำเภอ ต่างหลั่งไหลกันมาช่วยท่าน ทั้งที่การคมนาคมตลอดจนการสื่อสารในสมัยนั้นยังไม่พัฒนา แต่คนจากต่างที่กลับรู้ถึงข่าวอันนี้ อย่างน่าอัศจรรย์ โดยสร้างถนนเป็นระยะทางยาว 11 กม.ใช้เวลาเพียง 5 เดือน 22 วัน เท่านั้น โดยการร่วมแรงร่วมใจของชาวบ้านที่มีมีจิตศรัทธามาลงแรงช่วยเหลือ


นอกจากนั้นท่านยังเป็นพระนักพัฒนา โดยท่านได้ทำการบูรณะวัดวาอารมและศาสนาสถาน ทั่วทั้งเขตภาคเหนือ ทั้งในเขตของจังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง และพะเยา นับรวมได้กว่า 200 กว่าวัด

นอกจากนั้น ในปีพุทธศักราช 2469-2471 ครูบาศรีวิชัย พร้อมด้วยบรรดาสานุศิษย์ได้รวบรวมพระไตรปิฎกที่ถูกทอดทิ้งอยู่ตามวัดต่างๆ จากตำบล อำเภอ และจังหวัดอื่นๆ แล้วรวมกันจัดให้เป็นหมวดหมู่เป็นธัมมขันธ์ ทำการสังคายนาจารลงใบลานขึ้นมาใหม่ เพื่อไว้เป็นหลักฐานการศึกษา ค้นคว้าหาแนวทางประพฤติพระธรรมวินัย สืบอายุบวรพระพุทธศาสนาต่อไป



ธรรมมะคำสอน

ครูบาศรีวิชัยมีความปรารถนาที่จะบรรลุธรรมะอันสูงสุดดังปรากฏจากคำอธิษฐานบารมีที่ท่านอธิษฐานไว้ว่า
"...ตั้งปรารถนาขอหื้อได้ถึงธรรมะ ยึดเหนี่ยวเอาพระนิพพานสิ่งเดียว..."
และมักจะปรากฏความปรารถนาดังกล่าว ในตอนท้ายชองคัมภีร์ใบลานที่ท่านสร้างไว้ทุกเรื่อง


คำสอนเรื่องตัณหากามคุณ
เครื่องประดับขัตติยะนารีทั้งหลาย มีแก้วแหวนเงินทอง เป็นตัณหากามคุณ เหมือนดั่งน้ำผึ้งแช่ยาพิษ สำหรับนำความทุกข์มาใส่ตัวโดยบ่มีประโยชน์สิ่งใดเลย แม่น้ำคงคา ยมุนา อิรวดี มหิ มหาสรพู ซึ่งเป็นแม่น้ำใหญ่ทั้ง 5 แม่น้ำนี้ แม้นจักเอามาอาบให้หมดทั้ง 5 แม่นี้ ก็บ่ อาจจะล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ ลมฝนลูกเห็บ แม้นจะตกลงมาหลายห่า เย็นและหนาวสักปานใด ก็บ่อาจเย็นเข้าไปถึงภายในให้หายจากความทุกขเวทนาได้ ศีล 5 เป็นอริยทรัพย์ เป็นต้นเหตุแห่งความบริสุทธิ์ เป็นน้ำทิพย์สำหรับล้างบาป คือความเดือดร้อนภายในให้หายได้ เมื่อศีลบริสุทธิ์แล้ว สมาธิ ความตั้งมั่นก็จะมีมา แล้วให้ปลุกปัญญา ปัญญาก็จักเกิดมีขึ้นได้ คือ ให้หมั่นรำลึกถึงตัวตนอยู่เสมอ ว่า บ่ใช่ตัว บ่ใช่ตน จนเห็นแจ้งด้วย ปัญญาของตน จึงเป็นสมุทเฉทประหานกิเลส หมดแล้ว จิตเป็นวิมุติ หลุดพ้นจากความทุกข์ทั้งมวลได้.


มีคำกล่าวถึงครูบาศรีวิชัยจากพระสงฆ์ที่เป็นครูบาอาจารย์ว่าท่านเป็นพระโพธิสัตว์อุบัติลงมาเพื่อสร้างบุญบารมี และหนึ่งในหลักฐานดังคำกล่าวของท่านเองซึ่งกล่าวเป็นภาษาเหนือไว้ว่า

"ต๋นข้าพระศรีวิชัยภิกขุ เกิดมาปิ๋เปิ๋กยี จุลศักราช ๑๒๔๐ ตั๋วพุทธศักราช ๒๔๒๐ ปรารถนาขอหื้อข้าฯ ได้ตรัสรู้ปัญญาสัพพัญญูโพธิญาณเจ้าจิ่มเตอะ"

แปลเป็นภาษากลางว่า "ตัวข้าพระศรีวิชัยภิขุ เกิดมาเมื่อ....... ขอปรารถนาให้ข้าพเจ้าได้ตรัสรู้ปัญญาพระสัพพัญญูโพธิญานด้วยเถิด."

มรณะภาพ
ครูบาศรีวิชัยท่านถึงแก่มรณภาพเมื่อวันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๑ ที่วัดบ้านปาง ขณะมีอายุได้ ๖๐ ปี ๙ เดือน ๑๑ วัน และตั้งศพไว้ที่วัดบ้านปางเป็นเวลา ๑ ปี บางท่านก็ว่า ๓ ปี จากนั้นได้เคลื่อนศพมาตั้งไว้ที่วัดจามเทวี ลำพูน จนถึงวันที่ ๒๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ จึงได้รับพระราชทานเพลิงศพ เมื่องานพระราชทานเพลิงศพเสร็จสิ้น จึงได้มีการแบ่งอัฐิของท่านไปบรรจุไว้ตามที่ต่าง ๆ เช่น ที่วัดจามเทวีจังหวัดลำพูน วัดสวนดอก จังหวัดเชียงใหม่ วัดพระแก้วดอนเต้า จังหวัดลำปาง วัดศรีโคมคำ จังหวัดพะเยา วัดพระธาตุช่อแฮ จังหวัดแพร่ และที่วัดบ้านปาง จังหวัดลำพูนอันเป็นวัดดั้งเดิมของท่าน เป็นต้น


ครูบาศรีวิชัยท่านเป็นพระสงฆ์ในยุคก่อนกึ่งพุทธกาล ของล้านนาไทยที่เปี่ยมไปด้วยบารมีเป็นที่เคารพศรัทธาเป็นอย่างมากต่อทั้งประชาชนคนเหนือทั่วทุกจังหวัด ตลอดจนพระเกจิอาจารย์ของล้านนาในยุคหลังก็ได้ยึดท่านเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติตนในเพศบรรพชิต จะเห็นได้จากภาพของหลวงปู่ครูบาศรีวิชัยนั้นจะมีติดเกือบทุกบ้าน แม้แต่วัดวาอารามต่างๆก็จะมีรูปท่านติดไว้บูชาเสมอ

ข้อมูลบางส่วนจาก : http://www.dharma-gateway.com/monk/monk_biography/kb-srivichai/kb-srivichai-hist-01.htm

เรียบเรียงโดย : อาจารย์อนุชา


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

Post Bottom Ad

Pages